ต้นสำรอง (พุงทะลาย)
- Published in ของดีเมืองจันท์
ต้นสำรอง หรือ พุงทะลาย (ภาษาถิ่นทางภาคอีสานเรียกว่า บักจอง) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีลำต้นสูงประมาณ 4-5 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเฉพาะช่วงปลายยอดของต้น เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางสมุนไพร มีมากในจังหวัดจันทบุรี เป็นที่มาของชื่อ "เมืองพุงทะลาย" ที่เป็นชื่อเมืองเก่าของจันทบุรีในอดีต
เมื่อต้นสำรองมีผลที่เก็บเกี่ยวได้ ชาวบ้านมักโค่นต้นเพื่อสะดวกในการเก็บลูก ไม่นิยมให้ผลหล่นตามธรรมชาติ เพราะช้ามากกว่าจะหล่นหมดต้น และผลมักจะร่วงหล่นไปไกลทำให้ยากต่อการเก็บ เนื่องจากลูกสำรองจะมีลูกสำเภาปลิวไปได้ ชาวบ้านมักเกรงว่าเพื่อนบ้านจะมาเก็บเกี่ยวก่อนจึงจำเป็นต้องโค่นต้น
สำรองเป็นไม้ชอบขึ้นตามป่าดงดิบ มีความชื้นสูง ไม่นิยมปลูก มักขึ้นเองตามธรรมชาติตามภูเขาน้อยใหญ่ทั่วไป ชาวจันทบุรีนิยมเรียก "สำรอง" มากกว่าพุงทะลาย ผลของต้นสำรองใช้เป็นสมุนไพรที่เข้าตำรับยาไทย สำหรับผลเมื่อนำมาแช่น้ำจะพองขึ้น สามารถนำไปรับประทานได้โดยเพิ่มน้ำตาล ถ้าต้องการมีรสชาดมากขึ้นใส่น้ำแข็งหรือนำเข้าแช่ตู้เย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้รู้สึกชุ่มชื่น
สำหรับสรรพคุณทางยาของสำรองนั้นไม่เป็นรองใครเหมือนชื่อ หมอไทยแต่โบราณรู้จักนำทุก ส่วนของสำรองมาใช้ทำยา ดังนี้
- ราก รสเฝื่อนเปรี้ยวเล็กน้อย แก้ไอ แก้ท้องเสีย รักษากามโรค แก้พยาธิผิวหนัง
- แก่นต้น รสเฝื่อน แก้โรคเรื้อน แก้กุฏฐัง แก้กามโรค
- ใบ รสเฝื่อน แก้พยาธิ แก้ลม
- ผลและเมล็ด รสฝาดสุขุม แก้ไข แก้ตานซาง ตานขโมยในเด็ก แก้ท้องเสีย แก้ลมพิษ แก้ลม แก้ธาตุพิการ
- เปลือกต้น รสเฝื่อน แก้ไข้ แก้ท้องเสีย
จะ เห็นได้ว่าสรรพคุณโดยรวมของต้นสำรอง คือ แก้ไอ แก้ไข้ และแก้ท้องเสีย ส่วนสรรพคุณแก้โรคเรื้อน กุฏฐัง โรคผิวหนัง และกามโรค ของรากและแก่นต้นสำรองนั้น น่าจะมีการศึกษาวิจัยในด้านการบรรเทาอาการโรค ผิวหนังในผู้ป่วยเอดส์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ส่วนของสำรองที่นิยมใช้ประโยชน์กันในปัจจุบันคือ เมล็ดสำรอง โดยเฉพาะวุ้นที่ได้จากเปลือก หุ้มเมล็ดที่พองตัวเมื่อนำไปแช่น้ำ
เมืองเก่าของจันทบุรีครั้งหนึ่งเคยตั้งอยู่ที่ตำบลพุงทะลาย (ตำบลจันทนิมิตในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นบริเวณที่เคยมีต้นสำรองหนาแน่นและมีการซื้อขายกัน เมืองเก่าแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกว่า เมืองพุงทะลาย